โรคแอนแทรคโนสในมะม่วง [Credit: vanidakaset.com]

หมวดหมู่: บทความ

โรคแอนแทรคโนสในมะม่วง

          โรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่มีความสำคัญมากที่สุดในการผลิตมะม่วง เพราะโรคนี้ทำความเสียหายต่อต้นมะม่วงตั้งแต่ที่อยู่ในสวนไปจนถึงผลมะม่วงหลังเก็บเกี่ยวที่ออกจากสวนแล้ว นักวิชาการจึงจัดว่าโรคแอนแทรคโนส เป็นโรคที่เกิดทั้ง ก่อนเก็บเกี่ยว (Pre-harvest disease) และ หลังเก็บเกี่ยว (Post-harvest disease) ความเสียหายจากโรคแอนแทรคโนสในมะม่วงก่อนเก็บเกี่ยว อาจยังไม่มีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานว่า ความเสียหายหลังการเก็บเกี่ยว ได้มีการศึกษาการประเมินความเสียหายในมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้หลังการเก็บเกี่ยว ในแหล่งปลูกและแหล่งวางจำหน่ายในเขตภาคเหนือและตลาดกลางสินค้าเกษตร กรุงเทพมหานคร พบความเสียหายจากโรคแอนแทรคโนส มากที่สุด ตั้งแต่ 10 - 50 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะการประเมินจากผลมะม่วงน้ำดอกไม้ในตลาดไท ซึ่งเป็นตลาดขายส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความเสียหายจากโรคแอนแทรคโนส สูงถึง 46 % ในส่วนของเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง สมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ก็มีการเสนอปัญหาและความต้องการของชาวสวนมะม่วงไทยต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร หนึ่งในปัญหาต่างๆนั้น คือ ปัญหาเรื่องโรคแอนแทรคโนส ซึ่งนอกจากจะทำความเสียหายต่อการผลิตมะม่วงอย่างรุนแรงแล้ว เกษตรกรยังขาดความรู้เกี่ยวกับโรคและแนวทางแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

          ดังนั้น ในเนื้อหาของบทรายงานวิชาการนี้ จึงขอเสนอข้อมูลวิชาการด้านโรคแอนแทรคโนส เท่าที่จำเป็นต่อการนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร

 

สาเหตุของการเกิดโรค

          โรคแอนแทรคโนส มีสาเหตุเกิดจากเชื้อราที่เรียกชื่อทางวิชาการว่า Colletotrichum spp. (รายงานทางวิชาการ บอกว่า เชื้อหลัก คือ C. gloeosporioides) เชื้อราชนิดนี้ สามารถเข้าทาลายมะม่วงได้ทุกส่วน ได้แก่ ใบ กิ่ง ก้าน ช่อดอก และผลอ่อน โดยเฉพาะใบอ่อนมีความอ่อนแอต่อการเข้าทาลายของเชื้อราและเป็นแหล่งของเชื้อราที่จะแพร่กระจายไปยังผล

                               

 

การแพร่กระจายของโรค

          การแพร่กระจายของโรคแอนแทรคโนส เชื้อราจะสร้างสปอร์ ซึ่งเป็นส่วนที่เชื้อราใช้เพิ่มปริมาณ สปอร์จะแพร่กระจายไปกับลมและน้ำฝน โรคแอนแทรคโนส จึงมักระบาดรุนแรงในฤดูฝน เพราะอุณหภูมิและความชื้น เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อรา เชื้อราโรคแอนแทรคโนส สามารถเกิดขึ้นได้หลายรอบตลอดฤดูปลูก (polycyclic disease) เมื่อมะม่วงเป็นไม้ยืนต้น การเข้าทำลายของเชื้อรา จึงเกิดได้ตลอดปีและเข้าทำลายพืชได้ทุกระยะการเจริญตลอดฤดูการปลูก จึงทำให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างยากลำบาก

                                                                     

 

ลักษณะอาการของโรค

          ใบแก่ที่มีสีเขียวเข้มจะไม่แสดงอาการของโรค อาการบนผล มี 2 ลักษณะ คือ อาการผลอ่อนเน่าบนต้น และ อาการแฝงบนผลมะม่วงที่กำลังพัฒนาหรือผลมะม่วงแก่ที่ยังดิบในระยะเก็บเกี่ยว ( ไม่แสดงอาการเป็นแผลหรือผลเน่า) ซึ่งทางวิชาการเรียกอาการนี้ว่า อาการแฝง เพราะเชื้ออยู่ในระยะพักตัว (เรียกทางวิชาการว่า latent infection) เมื่อมะม่วงแก่หลังเก็บเกี่ยวและใกล้สุก เชื้อจะเริ่มพัฒนาใหม่และทำให้ผลมะม่วงเกิดอาการผลเน่าเสีย จึงจัดว่าเป็นโรคในระยะหลังการเก็บเกี่ยว (post-harvest disease) แต่เชื้อได้เข้าฝังตัวบนผิวเปลือกของผมมะม่วง ตั้งแต่ผลอยู่บนต้นก่อนเก็บเกี่ยวแล้ว อาการแฝงบนผลมะม่วงดิบนี้ อาจทำให้เกษตรกรเข้าใจว่า ผมมะม่วงสมบรูณ์ ไม่มีโรค

 

                 

 

 

การจัดการควบคุมการเกิดโรค

          หลักการ การควบคุมหรือการป้องกันโรคแอนแทคโนสในมะม่วง คือ 1. ต้องกำหนดวิธีการให้สอดคล้องเหมาะสมกับธรรมชาติชีวิตของเชื้อราและลักษณะการเข้าทำลายต้นพืช ตามข้อมูลดังกล่าวข้างต้น และ 2. ต้องเลือกสารเคมีให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพกับเชื้อราของโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum spp, C. gloeosporioides) โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่องการ “ดื้อยา” ของเชื้อราชนิดนี้ เพราะมีรายงานมากมายทั้งในประเทศและจากต่างประเทศว่า เชื้อราของโรคแอนแทรคโนส ดื้อต่อสารเคมีหลายชนิด

          เนื่องจาก เชื้อราสามารถเข้าทำลายต้นมะม่วงได้ทุกระยะของรอบการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง การกำหนดวิธีการใช้สารเคมี จึงต้องเป็นในลักษณะ การป้องกัน ในระยะที่พืชอ่อนแอต่อการเกิดโรค มากกว่า การรักษา เมื่อเห็นพืชได้รับความเสียหายจากโรค เพราะจะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อรา ได้ไม่ทันการ และทำให้ไม่ได้ผล เป็นเหตุให้เกษตรกร ต้องใช้สารเคมีมากขึ้นๆ เพื่อรักษาต้นมะม่วง

 

                           

 

 

          ด้านสารเคมี ก็มีรายงานในต่างประเทศว่า เชื้อราของโรคแอนแทรคโนส (Colletotrichum spp, C. gloeosporioides) ดื้อยา ต่อสารเคมีบางกลุ่ม

 

 

 

สารโพรคลอราซ (prochloraz)

          สารโพรคลอราซ เป็นสารเคมีป้องกำจัดโรคพืช ออกฤทธิ์ประเภท ดูดซึม (translarminar) มีประวัติเรื่องการ ดื้อยา น้อยกว่าสารเคมีอื่นๆหลายชนิด แม้ว่าจะมีสารรุ่นใหม่ที่ผลิตออกมาใช้หลังสารโพรคลอราซ นานหลายปี ก็ยังมีรายงานว่า ดื้อยา มากกว่าสารโพรคลอราซ จึงมีรายงานว่า มีการใช้สารโพรคลอราซสำหรับควบคุมโรคแอนแทรคโนสในหลายๆพืช รวมทั้งในมะม่วง นอกจากตัวยาจะมีประสิทธิภาพดีต่อการกำจัดเชื้อราสาเหตุบนต้นมะม่วงแล้วคุณสมบัติในการดูดซึมของสาร ก็เหมาะสมต่อการกำจัดเชื้อราที่แฝงตัวอยู่บนผิวเปลือกของผลมะม่วงดิบ ได้ดี จึงส่งผลช่วยลดปัญหา ผลเน่าของผลมะม่วงหลังเก็บเกี่ยว ได้เป็นอย่างมาก

            

 

 

          จากการทดสอบสารโพรคลอราซในสวนมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ทีจังหวัดอ่างทอง ในปี 2555 พบว่า สารโพรคลอราซ (โค-ราซ) มีประสิทธิภาพในการช่วยลดปัญหาโรคแอนแทรคโนสได้ดี ทั้งบนต้นมะม่วงและปัญหาผลเน่าหลัง

เก็บเกี่ยว

 

            

 

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

การป้องกันหรือควบคุมปัญหาศัตรูพืชที่ดี มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการลงทุนนั้น หลักการสำคัญ คือ รู้จักศัตรูพืช รู้จักยา แล้ว กำหนดวิธีให้สอดคล้องกับวงจรชีวิตของศัตรูพืช ก็จะได้ผล ตามที่คาดหวัง ดังกล่าวมาข้างต้น นี่คือ หลักการควบคุมศัตรูพืช ที่ทางวิชาการเรียกว่า Integrated Pest Management (IPM)                   

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

เอกสารที่ใช้อ้างอิงข้อมูล

  1. ปัญหาและความต้องการของชาวสวนมะม่วงไทย ทวัชชัย รันต์ชเลศ 2560 .
  2. รายงานวิจัย ฉบับสมบรูณ์ การจัดการระบบการควบคุมโรคแอนแทรคโนสของมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกปริญญา จันทรศรีและคณะ 2552
  3. กระบวนการเข้าทาลายของเชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides สาเหตุโรคแอนแทรคโนสบนใบมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองและการควบคุมโรคด้วยสารเคมีฆ่าเชื้อรา รัตติรส เชียงสิน 2559
  4. Anthracnose of mango: Management of the most important pre‐ and post‐harvest disease

       Randy C. Ploetz

      5. Mango anthracnose: Econimic impact and current options for integrated management, Arauz F. Luis, Plant Disease / Vol. 84 No. 6, 2000

***************************

                

18 กันยายน 2561

ผู้ชม 23115 ครั้ง

Engine by shopup.com