การวินิจฉัยปัญหาโรคในพืชได้ถูกต้อง สำคัญไหม ?

หมวดหมู่: บทความ

การวินิจฉัยปัญหาโรคในพืชได้ถูกต้อง สำคัญไหม ?

          นับจากที่กลุ่มบริษัท ลัดดากรุ๊ป ได้จัดตั้งศูนย์แนะนำการแก้ปัญหาการปลูกพืช โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือสวนที่ปลูกพืชทุกชนิด ที่ประสบปัญหาของการปลูก ปัญหาโรคพืช แมลงศัตรูพืช ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา มีเกษตรกรที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ผ่านทาง    facebook ให้ความสนใจและมีปัญหาถามมายังศูนย์ฯ เป็นระยะๆ ตลอดมา  เกือบทั้งหมด เป็น คำถามพื้นฐานจากการทำลายของแมลงศัตรูพืชบ้าง ปัญหาพืชเป็นโรคบ้าง บางรายก็ถามมาว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร  พร้อมกับส่งรูปอาการของต้นพืชมาให้ดูและให้ข้อมูลมาว่า ได้ฉีดพ่นสารเคมีอะไรไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล ขอคำแนะนำว่า จะทำอย่างไร ดี ?

          จากคำถามปัญหาของเกษตรกร ดังกล่าวทำให้ได้ข้อคิดว่า เกษตรกรส่วนหนึ่งยังขาดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ ศัตรูพืชและการแก้ไขเมื่อเกิดศัตรูพืชเข้าทำลายพืชที่ปลูก ดังนั้น ประเด็น จึงอยู่ที่ว่า เราจะทำงานส่งเสริมการเกษตรอย่างไร ให้เกษตรกรมีความรู้พื้นฐานในการจำแนกหรือวินิจฉัยว่า โรคที่เกิดบนพืชที่ปลูกนั้น เป็น ชนิดใด ประเภทไหน เพราะเชื้อโรคมีหลายชนิด หลายกลุ่ม ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเลือกชนิดหรือกลุ่มของสารป้องกันกำจัดเชื้อโรค นั้นๆ

          บทความนี้ จึงอยากจะพูดถึงความรู้พื้นฐาน เกี่ยวกับ การวินิจฉัยชนิดของโรคพืช แม้ว่า การดูเพียงรูป ไม่ได้ฝึกอบรมจากของจริงในแปลงปลูกพืช อาจจะยังยากต่อเกษตรกรในการจำแนก หรือวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องทั้งหมด แต่ข้อมูลพื้นฐานที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็อาจจะพอช่วยเกษตรกรได้ ในเบื้องต้น 

 

หลักการพื้นฐานในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

          ในหลักการพื้นฐานการป้องกันกำจัดศัตรูพืช หรือการควบคุมการทำลายของศัตรูพืช ไม่ให้เกิดความเสียหายจนถึงระดับเศรษฐกิจต่อการปลูกพืชของเกษตรกรซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก นั้น คือ หลักการที่กรมวิชาการเกษตร เรียกว่า การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน หรือมักเรียกย่อๆว่า IPM (Integrated Pest Management) ซึ่งคำอธิบายหลักการนี้มีอยู่มากมายโดยสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์เกษตรและหน่วยงานเกษตรของรัฐ แต่คำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุดและปฏิบัติได้ง่าย คือ คำอธิบายหลักการ IPM ของหน่วยงาน ศูนย์ข้อมูลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแห่งชาติ (NIPC, USA) ซึ่งให้คำอธิบาย ดังนี้

IPM คือ แนวคิดที่เป็นการผสมกันระหว่าง สามัญสำนึก กับ หลีกการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อบริหารจัดการศัตรูพืช โดยการปฏิบัติ ดังนี้

  1. ใช้ความรู้เกี่ยวกับ นิสัย วงจรชีวิต ความชอบ ไม่ชอบ ของศัตรูพืชแต่ละชนิด
  2. เลือกใช้วิธีการป้องกำจัดที่ปลอดภัย เป็นอันดับแรก รวมไปถึงการใช้สารเคมี
  3. ติดตามตรวจสอบกิจกรรมของศัตรูพืช พร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการในแต่ละช่วงเวลา
  4. ทนได้กับศัตรูพืชที่มีเล็กน้อย ไม่ทำให้พืชเสียหาย
  5. กำหนดระดับที่จะทำการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

 

          สิ่งสำคัญเบื้องต้น  คือ ข้อปฏิบัติที่ 1และ 2 ซึ่งจะนำไปสู่ข้อปฏิบัติ ข้อที่ 3-5  ดังนั้น เกษตรกร ต้องวินิจฉัยและจำแนกชนิดของศัตรูพืช โดยเฉพาะ กับอาการของโรค (ซึ่งอาจจำแนกได้ยากกว่าแมลง) และมักสับสนในอาการของโรคแต่ละชนิด ดังกรณีตัวอย่าง การเกิดโรคบนใบข้าวโพดที่เกษตรกรถามปัญหามาทีศูนย์ฯ

 

โรคบนใบข้าวโพด

เกษตรกรได้ส่งรูปมาพร้อมกับขอคำแนะนำการแก้ปัญหา “โรคใบลาย” เพราะใช้สารเคมีฉีดพ่นแล้วแต่ไม่ค่อยได้ผล ใบข้าวโพด ยังมีความเสียหาย ซึ่งเมื่อดูอาการของโรคจากรูป มีอาการที่แตกต่างกัน 3 ชนิด ดังนี้

 

ความแตกต่างของชนิดโรค

          จากรูปที่เกษตรกรส่งมา พบว่า บนใบข้าวโพด เกิดโรคที่แตกต่างกันถึง 3 ชนิด แต่ละรูป สาเหตุโรค เกิดจากเชื้อโรคที่ต่างกลุ่มกัน มีความแตกต่างกันอย่างมาก ในทาง ชีววิทยา วงจรชีวิต นิสัยชอบ-ไม่ชอบ และส่งผลต่อการเลือกใช้สารป้องกันกำจัดโรค

 

โรคชนิดที่ 1 เป็นอาการที่เกษตรกรเรียกว่า โรคใบลาย หรือในทางวิชาการเรียกว่า โรคราน้ำค้าง ซึ่งเชื้อสาเหตุ เกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มที่เรียกว่า  โอโอไมซีต (Oomycete) ซึ่งไม่ชื่อเรียกภาษาไทย สมัยก่อนจัดเป็นเชื้อรา แต่ปัจจุบันถูกแยกออกมาจากเชื้อรา มีนิสัยชอบความชื้น สูงๆ ฝนชุก หรือแปลงมีน้ำท่วมขัง สปอร์ของเชื้อโรค แพร่กระจายไปกับน้ำ อาการของโรค คือ ใบจะมีสีเหลืองอ่อน หรือเขียวอ่อน สลับกับสีเขียวปกติ เป็นทางยาวไปตามใบ เกษตรกร จึงเรียกว่า โรคใบลาย เชื้ออาศัยอยู่ในดิน ดังนั้น ในสภาพฝนชุก เชื้อโรคอาจเข้าทำลายตั้งแต่ข้าวโพดต้นยังเล็ก สิ่งสำคัญ เชื้อโรคกลุ่มนี้ มีรายงานการ ดื้อยา ต่อสารเคมี หลายชนิด

 

โรคชนิดที่ 2 เป็นอาการของโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ทำให้เกิดอาการ ใบไหม้ อาการของโรค อาจทำให้เกิดความสับสนกับอาการใบเหี่ยวจากการขาดน้ำ แต่เชื้อแบคทีเรีย ชอบอากาศชื้น ค่อนข้างร้อน เพราะฉะนั้น ในช่วงที่มีฝนชุกและสลับอากาศร้อน มักจะเกิดโรคแบคทีเรีย แผลของโรค จะทำให้ใบแห้งเป็นสีน้ำตาล และมักเป็นที่ขอบใบ เชื้อแบคทีเรีย สามารถแพร่กระจายไปตามท่อน้ำในลำต้นข้าวโพด ดังนั้น ถ้าอาการรุนแรง จะทำให้ต้นข้าวโพดเหี่ยวแห้งทั้งต้น

 

 

โรคชนิดที่ 3 เป็นอาการของโรคที่เกิดจาดเชื้อรา ชนิดหนึ่ง เรียกว่า ใบจุดสีเทา (Grey leaf spot – Cercospora sp.)

 

 

          จากการตรวจวินิจฉัยจากรูป จะพบว่า ใบข้าวโพดมีโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุที่แตกต่างกัน 3 ชนิด และเชื้อแต่ละชนิด ตอบสนองต่อสารเคมีเคมีหรือสารป้องกันโรค ที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกใช้สาร จึงต้องเลือกให้ถูกต้อง จึงจะได้ประสิทธิภาพ ในการควบคุมโรค

 

การใช้สารป้องกันกำจัดโรค

          ข้อมูลจากเกษตรกร บอกว่า มีการฉีดพ่น สารไดเมโทมอร์ฟ (dimethomorp) แต่ไม่สามารถควบคุมอาการโรคบนใบข้าวโพดได้ นี่คือ ผลมาจาก เกษตรกร ไม่สามารถ จำแนกชนิดของโรคได้ทั้งหมด ที่เกิดบนใบข้าวโพด อาจสังเกตเห็นเพียง ใบลาย ก็คิดว่า ข้าวโพดเป็นโรคใบลาย (โรคราน้ำค้าง เท่านั้น) จึงฉีดพ่นเพียงสารไดเมโทมอร์ฟ ซึ่งสารเคมีชนิดนี้ ออกฤทธิ์ จำเพาะเจาะจงกับเชื้อโรคกลุ่ม โอโอไมซีต หรือ โรคราน้ำค้าง เท่านั้น แต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ กับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ได้ จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไม เกษตรกร จึงไม่สามารถป้องกำจัดโรค

ดังนั้น คำแนะนำการแก้ปัญหา จึงมี 2 ทาง คือ

  1. เกษตรกร ต้องใช้ สารสำหรับป้องกันกำจัด เชื้อโรคกลุ่ม โอโอไมซีต เช่น สารไดเมโทมอร์ฟ และเพิ่มสารชนิดอื่น อีก 1 ชนิดสำหรับโรคที่เกิดจากเชื้อรา คือโรคใบจุด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีสารเคมีใดในท้องตลาด ปัจจุบัน ที่มีประสิทธิภาพดีพอ ในการรักษาโรคจากแบคทีเรีย จะมีเพียงสารคอปเปอร์ ใช้สำหรับป้องกัน ตั้งแต่ต้น ก่อนจะเห็นอาการใบไหม้
  2. อาจเลือกใช้สารชีวภัณฑ์ สำหรับป้องกันกำจัด โรคได้ทั้ง 3 ชนิด ซึ่งได้เคยแนะนำไปแล้ว ในบทความอื่นๆ ของทางศูนย์ฯ คือ ผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ ไบออนแบค

 

 

ข้อคิดเห็นท้ายเรื่อง

          จากข้อมูลทั้งหมด ที่กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกร ยังขาดความรู้พื้นฐานในการวินิจฉัยจำแนกชนิดของศัตรูพืชและความรู้พื้นฐานในการเลือกสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช หากเกษตรกรสามารถมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศัตรูพืชและสารเคมี ก็จะช่วยให้การควบคุมโรคได้ผลดีขึ้น  ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต เป็นการประหยัดการใช้สารเคมีซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญอย่างหนึ่งในการผลิตพืชการเกษตร แต่ในสภาพทั่วไป การควบคุมศัตรูพืชโดยเกษตรกร ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ใช้สารเคมีเกินจำเป็นอย่างไม่ตั้งใจ เราจึงมักได้ยินเกษตรกร บ่นว่า ปุ๋ย-ยา ราคาแพง แต่ราคาผลผลิตต่ำ ขึ้นลง ไม่คงที่ ทำให้เกษตรกร ไม่มีกำไร หรือ ถึงขั้นขาดทุน ราคาผลผลิต นั้น เป็นไปตามกลไกตลาด ที่เกษตรกร ไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่เกษตรกรสามารถควบคุมได้ คือ ต้นทุนการผลิต ดังนั้น ความรู้พื้นฐานด้านศัตรูพืชและความรู้พื้นด้านสารกำจัดศัตรูพืช จะช่วยควบคุม ต้นทุน ให้เกษตรกรได้ ยามผลผลิตราดี เกษตรกร ก็จะได้กำไรดี แม้ยามผลผลิตราคาตกต่ำ ก็อาจจะทำให้กำไร ลดลงบ้าง แต่ยังไม่ถึงกับขาดทุน

 

“ความรู้พื้นฐาน จึงเป็นสิ่งสำคัญ ในทุกอาชีพ”

 

                   

เรียบเรียงโดย  สุจินต์ จันทรสอาด ที่ปรึกษาศูนย์แนะนำแก้ปัญหาการปลูกพืช VANIDA KASET (www.vanidakaset.com)

 

 

 

***************************

08 ตุลาคม 2561

ผู้ชม 4356 ครั้ง

Engine by shopup.com